แม้ปัจจัยหลักที่ทำให้ร่างกายมีความสมบูรณ์แข็งแรงอยู่ที่โภชนาการที่ดี การดำเนินชีวิตที่เหมาะสมและออกกำลังกายสม่ำเสมอ แต่ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถทำได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ การตรวจสุขภาพจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ไม่ควรละเลย ซึ่งควรเลือกตรวจให้เหมาะสมในแต่ละช่วงวัย เพื่อการประเมินภาวะสุขภาพร่างกายให้สอดคล้องกับความเสี่ยงของการเกิดโรคที่จะเกิดในช่วงวัยนั้นๆ หากพบความผิดปกติทำให้แพทย์สามารถให้คำแนะนำถึงแนวทางการรักษาทันท่วงทีได้ตั้งแต่ระยะแรก ช่วยลดปัญหาค่าใช้จ่ายจากความรุนแรงในอนาคต
ช่วงวัยทำงาน (20-40ปี)
ช่วงวัยนี้เป็นช่วงวัยทำงาน หลายคนอาจทำงานหนักจนลืมดูแลตัวเองประกอบกับวิถีการบริโภคอาหารในปัจจุบันทำให้คนวัยนี้มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคต่างๆ ซึ่งโรคเหล่านี้มักเป็นภัยเงียบที่ยังไม่เกิดอาการในช่วงเริ่มต้นเช่นไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง หรือภาวะไขมันพอกตับ ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการทำงาน การบริโภค
ดังนั้นช่วงวัยนี้การตรวจสุขภาพควรเน้นไปที่กลุ่มของ metabolic syndrome คือดูค่าน้ำตาล ระดับไขมันในเลือด นอกจากนี้ในกลุ่มคนที่มีประวัติครอบครัวเกี่ยวข้องกับมะเร็งบางชนิดการคัดกรองตรวจหาค่ามะเร็งบางชนิดก็สามารถทำได้ตั้งแต่ช่วงวัยนี้
ช่วงวัยกลางคน (41-60 ปี)
จะเป็นช่วงวัยที่ภัยเงียบต่างๆที่เคยสะสมมาตั้งแต่ช่วงก่อนหน้านี้ประกอบกับช่วงวัยนี้เป็นช่วงที่จะเริ่มเกิดความเสื่อมของอวัยวะต่างๆในร่างกาย และทุกอย่างจะเริ่มแสดงอาการออกมา
ดังนั้นในช่วงวัยนี้นอกจากตรวจเบื้องต้นแล้ว ควรตรวจเพิ่มเติมพิเศษ เช่น อัลตราซาวด์ (Ultrasound) ดูอวัยวะในช่องท้อง เช่น ตับ ไต ถุงน้ำดี หรือภาวะหลอดเลือดของระบบหัวใจหรือส่วนต่างๆ ทั่วร่างกาย
ช่วงวัยสูงอายุ (61 ปีขึ้นไป)
เป็นวัยที่จะเกิดความเสื่อมของอวัยวะต่างๆ อย่างชัดเจน และเป็นวัยที่ต้องเน้นเรื่องการดูแล ป้องกันอย่างมาก เนื่องจากภูมิคุ้มกันและฮอร์โมนต่างๆในร่างกายเริ่มลดระดับการสร้างลง ทำให้ร่างกายเราเริ่มเสียสมดุล การตรวจพิเศษต่างๆ จึงเริ่มมีบทบาทมากขึ้นในช่วงวัยนี้ เช่น การตรวจมวลกระดูก การตรวจเรื่องการทำงานของระบบหลอดเลือดหัวใจอย่างละเอียด การตรวจเลือดจำเพาะพิเศษบางอย่าง หรือการคัดกรองหาสารบ่งชี้มะเร็ง